วิธีรับมือกับคำวิจารณ์ของคนอื่น ให้ใจไม่ทุกข์

วิธีรับมือกับคำวิจารณ์ของคนอื่น ให้ใจไม่ทุกข์

คุณมี วิธีรับมือกับคำวิจารณ์ของคนอื่น ให้ใจไม่ทุกข์ ไหมคะ เวลาคนเราโดนวิจารณ์ก็ต้องเครียดเป็นเรื่องธรรมดาค่ะ ทั้งทุกข์ทั้งเครียด แต่เราต้องหาวิธีรับมือกับมันให้ได้ค่ะ เพราะทุกๆ วันเราต้องติดต่อพบปะผู้คน ยังไงเราคงหนีไม่พ้นคำวิจารณ์บ้างในบางคราว

เวลาเราทำงาน เราต้องติดต่อสื่อสารกับคนมากมาย ไม่ว่าจะเพื่อนร่วมงาน เพื่อนในแผนก ลูกค้า เจ้านาย ลูกน้อง ฉะนั้นเราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยว่าบางครั้งเราอาจจะมีปัญหากระทบกระทั่งกับคนเหล่านั้น วันหนึ่งเราอาจจะได้ feedback หรือคำวิจารณ์จากพวกเขาก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่บวกหรือในแง่ลบ

ถ้าคำวิจารณ์หรือ คอมเมนต์ที่เราได้รับเป็นในแง่บวกก็ดีไปค่ะ แต่ถ้าเป็นไปในทางลบละ เราจะทำใจได้ไหม? ฉันว่าการยอมรับคำวิจารณ์ คำคอมเมนต์ที่เป็นในทางลบจากคนอื่นนั้นเป็นเรื่องยากมากที่เราจะยอมรับ และรับมือกับมัน โดยเฉพาะเมื่อเรามีอีโก้ในตัวเองอยู่มาก

การยอมรับความจริงง่ายๆ แต่ไม่ได้ง่าย!

 

วันหนึ่งที่ฉันอ่านผล “การประเมินผล 360 องศา” ของตัวเอง โดยเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในระดับตำแหน่งเดียวกัน และเจ้านาย ทำประเมินให้ฉันดี (ค่อนข้างมาก) ในขณะที่ตัวฉันเองให้คะแนนตัวเองไปทางกลางๆ ถึงค่อนข้างต่ำ เพราะฉันคิดว่าฉันยังมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข อีกหลายอย่าง

ผลการทำประเมินจากลูกน้อง ทำให้ฉันอึ้งไปเลย คือการเขียนประเมินของลูกน้องที่เขียนได้ real มาก ฉันอ่านแล้วแบบเออ เขียนแรงดี แรงได้อีกนะเนี่ย ฉันก็ออกจะเสียใจหน่อย ๆ แบบเฮ้ย ต้องแรงขนาดนี้เลยเหรอ แต่… สิ่งที่ลูกน้องวิจารณ์ก็มีส่วนที่เป็นจริงอยู่หลายอย่าง 

เช่น ฉันเป็นคนพูดไม่คิด จ้า ลูกน้องวิจารณ์แบบนี้แหละ คือเอาจริงๆ ฉันเป็นคนพูดตรงๆ โดยที่ไม่ได้คิดว่าใครจะเสียใจไหม กับสิ่งที่เราพูดออกไป “คือเราไม่ได้เสเเสร้ง นี่คือความคิด ความจริงใจของเรา” นี่คือสิ่งที่ฉันคิด ซึ่งพูดไปแล้วอาจจะทำให้คนฟังไม่ชอบได้

 

บทความ อยู่กับคำวิจารณ์อย่างไร ให้ใจเป็นสุข โดย ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร แนะนำไว้ ฉันได้อ่านในวันที่ต้องเผชิญกับคำวิจารณ์ที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

 

1. เข้าใจคำวิจารณ์นั้นๆ คนวิจารณ์จะวิจารณ์จากตัวตนของเขาเองมากกว่าตัวเรา คนดีๆ ส่วนใหญ่จะวิจารณ์คนอื่นในแง่บวก เพราะให้มีการปรับปรุง หรือติเพื่อก่อ แต่คนที่มีชีิวิตแย่ๆ จะวิจารณ์คนอื่นจากประสบการณ์ความคิดของตัวเอง มองอะไรก็แย่ไปเสียหมด  บางครั้งวิจารณ์ไปเรื่อยเปื่อยเราไม่จำเป็นต้องรับฟังทั้งหมด

2. ดูคำวิจารณ์นั้นว่ามาดึงหรือมาดัน เช่น ถ้าใครวิจารณ์เราว่า ทำงานอีก 10 ปีก็ไม่มีวันเจริญ โดยเป็นคำลอยๆ ไม่มีเหตุผลอะไรมาอ้างอิง วิจารณ์แบบอารมณ์ล้วนๆ แบบนี้ เรียกว่าคำวิจารณ์ที่มาดึงให้เราแย่ลง ไม่ต้องไปฟังดีกว่าค่ะ ส่วนคำวิจารณ์ที่มาดันหรือผลักดันเราให้มีการปรับปรุงตัวหรือพัฒนาอะไรให้มันดีขึ้นกว่าเดิม แบบนั้นเราควรรับฟังและนำมาปรับใช้

3. คำวิจารณ์นั้นเป็น truth (ความจริง) หรือ trash (ขยะ) ถ้าเป็นความจริงเราควรรับฟัง อย่างเช่น ลูกน้องฉันวิจารณ์ฉันว่าเป็นคนพูดไม่คิด ซึ่งมีความเป็นจริงอยู่มากเชียว ฉันจึงนำความวิจารณ์นี้มาพิจารณาว่าควรจะปรับปรุงตัวเองอย่างไร ส่วนคำวิจารณ์ที่ไม่มีความเป็นจริง วิจารณ์แบบใช้อารมณ์ เอามันล้วนๆ อันนี้ถือว่าเป็นขยะ ปล่อยผ่านไปค่ะ

 

การจัดการกับความเครียด หรือ วิธีรับมือกับคำวิจารณ์ของคนอื่น ให้ใจไม่ทุกข์ คือ การยอมรับในส่ิ่งที่มันควรจะเป็น เมื่อทำได้จะทำให้ใจเราเบาขึ้น ไม่ทุกข์ ไม่คิดมาก ไม่เครียดค่ะ ถ้าเราทำใจยอมรับได้จริงๆ ทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายเลย ที่สำคัญเราต้องลดอีโก้หรืออัตตาในตัวเรา ลดอัตตาความเป็นหัวหน้าออกบ้างน่ะค่ะ

ทุกๆ วันเราทำงาน เรามีเรื่องที่ต้องเครียดเยอะแยะอยู่แล้ว ลดเรื่องเครียดลงซักเรื่องสองเรื่องหรือพยายามให้เครียดน้อยที่สุดน่าจะดีนะคะ แล้วคุณละคะ จัดการกับความเครียดกันอย่างไร feedback หรือตอบกลับคนที่วิจารณ์เราแรงๆ อย่างไร แบ่งปันกันได้นะคะ

บทความอื่นๆ “อย่าไปสน ถ้าใครบอกว่าเราไม่เก่งพอ เราไม่ดีพอ เพราะว่ามันไม่จริง!

About the author

Leave a Reply